ฝ้า (Melasma)
รอยฝ้ามีลักษณะเป็นสีน้ำตาลคล้ำ มักเกิดบริเวณโหนกแก้ม, หน้าผาก, จมูก, เหนือริมฝีปาก และคาง ส่วนใหญ่จะเป็นเหมือนกันทั้งสองข้างของใบหน้า พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และพบมากในวัยกลางคน ฝ้าทำให้คุณเสียบุคลิกภาพขาดความมั่นใจได้ ฝ้าแบ่งออกเป็นฝ้าลึก ฝ้าตื้น และฝ้าผสม
สาเหตุของการเกิดฝ้า
1. แสงแดด เป็นปัจจัยสำคัญ แสงอุลตร้าไวโอเลต และไอความร้อนเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดฝ้าหรือทำให้ฝ้าชัดมากขึ้น
2. การเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนเพศ เช่น จากการตั้งครรภ์ หรือการรับประทานยาคุมกำเนิด
3. การแพ้ส่วนผสมในเครื่องสำอาง ซึ่งอาจทำปฏิกิริยากับแสงแดด แล้วเกิดการแพ้เป็นรอยดำได้
4. ยาบางชนิด เช่น ยาลอกผิว ยารักษาฝ้ากลุ่มไฮโดรควิโนน เมื่อใช้ไปนานๆและหยุดใช้ จะเกิดฝ้าถาวรและดื้อต่อการรักษา
5. พันธุกรรม และอายุที่เพิ่มมากขึ้น
วิธีการรักษาฝ้า
1. การใช้ครีมกันแดด ควรใช้ครีมกันแดดที่มีประสิทธิภาพ ส่วนใหญ่แนะนำให้ใช้ครีมกันแดดที่มี SPF 30 ขึ้นไป
2. การใช้ยาทารักษาฝ้า (Whitening cream) ซึ่งมีหลายชนิด เช่น Arbutin, licorice, kojic acid, AHA, BHA, vitamin C, Azelaic acid และ hydroquinone เป็นต้น ตัวยาจะออกฤทธิ์ช่วยลดการสร้างเม็ดสีใต้ผิวหนัง ควรใช้ยาด้วยความระมัดระวัง และใช้ยาต่อเนื่อง โดยค่อยๆเปลี่ยนยาลงเมื่อฝ้าจางไป ไม่ควรหยุดยาทันที ทั้งนี้ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ เพราะอาจเกิดปํญหาจากยา เช่น ฝ้าถาวรหรือด่างขาวถาวรซึ่งดื้อต่อการรักษา
3. ปัจจุบันมีการรักษาด้วยยากินในกลุ่ม transamin หรือ glutatione ควรใช้ยาต่อเนื่องและค่อยๆ ลดปริมาณยาลง ทั้งนี้ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ ไม่ควรซื้อยากินเอง
4. ผลการรักษาฝ้า เมื่อรักษาหายแล้วมีโอกาสจะเกิดขึ้นใหม่ นอกจากการใช้ยาแล้วยังมีการรักษาอื่นๆอีกในกรณีที่ดื้อยา หรือใช้ยาแล้วไม่ได้ผล เช่น เลเซอร์ใหม่ Spectra-VRM เป็นต้น การรักษาอาจต้องทำหลายครั้ง (5-10 ครั้ง) แต่แสงเลเซอร์จะทำให้ฝ้าเลือนหายไปนานมากซึ่งนับว่าได้ผลดีและคุ้มค่า
การป้องกันฝ้า
1. ควรหลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดจัดๆ และควรใช้ครีมกันแดดเป็นประจำ
2. ควรทดสอบเครื่องสำอางก่อนใช้ทุกครั้งว่าไม่แพ้ ไม่แดง ไม่ลอกเป็นขุย
3. หยุดยาที่เป็นสาเหตุ เช่น ยาคุมกำเนิด ยากันชักบางประเภท
4. เมื่อมีฝ้าเกิดขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อทำการรักษา ไม่ควรซื้อยาทาเอง